วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2554

แจง ปลูกยากกินได้เป็นยา

แจง เป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งที่บรรดาผู้ขยายพันธุ์ไม้ขายบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำต้นยากมาก แม้จะเพาะเป็นต้นกล้าขึ้นมาได้ แต่เมื่อนำไปปลูกต้นจะตาย จึงทำให้ไม่มีต้นวางขายทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นต้นที่เติบโตเต็มที่แล้ว และผู้ขายล้อมรากเอาต้นไปวางขาย ซึ่งก็มีราคาสูงตามขนาดของต้น เมื่อผู้ซื้อซื้อไปปลูกจึงจะรอดได้



แจง หรือ MAERUA SIAMENSIS (KURZ) PAX อยู่ในวงศ์ CAPPARACEAE สูง 5-10 เมตร ใบเป็นใบประกอบมีใบย่อย 3 ใบ ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง สีเขียวปนขาว ผล รูปรี เมล็ดรูปไต ดอกออกเดือนธันวาคม-มีนาคม ปีถัดไป ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด พบขึ้นตามป่าทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย ชาวบ้านในยุคสมัยก่อนนิยมนำเอาดอกสดไปดองเค็มเหมือนกับการดองกุ่ม และผักเสี้ยน รับประทานกับน้ำพริกชนิดต่าง ๆ อร่อยมาก





ส่วนสรรพคุณทางสมุนไพร ตำรายาแผนไทยระบุว่า ราก ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ แก้ปวดเมื่อย แก้ปัสสาวะพิการ แก้กษัย โดยกะจำนวนพอประมาณต้มกับน้ำจนเดือดดื่มขณะอุ่น วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 แก้ว ตอนไหนก็ได้ เปลือกต้น ราก และใบ จำนวนเท่ากันกะตามต้องการ ต้มน้ำรวมกันจนเดือดดื่มเป็นยาแก้ดีซ่าน หน้ามืด ตาฟาง ไข้มาลาเรีย ใบและยอดอ่อน กะพอประมาณ ตำรวมกันใช้ สีฟันทำให้ฟันทนแก้ไข้ เนื้อจากลำต้นต้มน้ำดื่มแก้ปวดหลัง บำรุงธาตุดีมาก มีชื่ออื่นเรียกคือ แกง (นครราชสีมา)






โรคกษัย คืออะไร


กษัย ; ตามแนวทฤษฎีการแพทย์แผนไทย




กษัย,กไษย,กไสย บังเกิดขึ้นแก่มนุษย์ทำให้มีอาการแห่งความเสื่อมโทรมซูบผอม สุขภาพของร่างกายสมบูรณ์ ทั้งโรคหรือไข้อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งทำลายสุขภาพของร่างกายให้เสื่อมโทรมไปทีละน้อย เป็นเวลาต่อมาได้เข้าได้รับการรักษาไม่ถูกต้องกับโรคหรือไข้นั้นๆโดยตรง เนื่องจากไม่มีอาการอะไรชัดเจน เพียงแต่อาการผอมแห้งแรงน้อย โลหิตจาง ผิวหนังซีดเหลือง ปวดเมื่อยตามร่างกายและกล้ามเนื้อ บางทีรู้สึกแน่นท้อง หนักตัว กินไม่ได้มากนอนไม่ค่อยหลับ ปัสสาวะกระปริกระปรอย มีชาปลายมือและปลายเท้าบ้าง มีเหงื่อออกตอนกลางคืน ยอกเสียวตามหัวอกและชายโครง มีตกกระตามร่างกาย กล้ามเนื้อชักหดลีบ มีอาการสะท้านร้อนสะท้านหนาวเป็นคราวๆ และท้องผูก



ลักษณะกษัยโรค มี 26 จำพวก แบ่งเป็น


กษัย 8 จำพวก คือกษัยกล่อน5 กษัยน้ำ1 กษัยลม1 กษัยไฟ1 ทั้ง8 จำพวกนี้เกิดแต่กองสมุฎฐานธาตุ แจ้งอยู่ในคัมภีร์วุฑฒิกะโรค


กษัยบังเกิดเป็นอุปปาติกะโรค มี 18 จำพวก คือ กษัยล้น กษัยราก กษัยเหล็ก กษัยปู กษัยจุก กษัยปลาไหล กษัยปลาหมอ กษัยปลาดุก กษัยปลวก กษัยลิ้นกระบือ กษัยเต่า กษัยดาน กษัยท้น กษัยเสียด กษัยไฟ กษัยน้ำ กษัยเชือก กษัยลม ประมวลเป็น 18 จำพวกด้วยกัน


ความหมายของโรคกษัยจากการสัมภาษณ์หมอพื้นบ้าน


จากความเห็นของหมอพื้นบ้านภาคกลาง กษัย หมายถึง ธาตุเสื่อม


หมอพื้นบ้านภาคเหนือ กษัย หมายถึง โรคเสื่อมหรืออวัยวะเสื่อม มีมากกว่าสมัยก่อน เพราะปัจจุบันคนเราทุกวันนี้ทำงานจำเจ นั่งมาก ยืนมาก เดินมาก กินมาก ทำให้เป็นกษัยได้ง่ายกว่าสมัยก่อน ทางภาคเหนือเรียกโรคกษัยว่า มะโหกโรคกษัย จะแปรปรวนไปได้ 3 ทางคือ


1.ริดสีดวงทวาร


2.ริดสีดวงลำไส้


3.โรคไตกำเริบ



วิธีการป้องกัน


1.เมื่อมีอาการปวดเมื่อยตามตัว รวมทั้งมีอาการท้องผูก ควรทานผักและผลไม้เพื่อช่วยระบาย ตามที่จริงแล้วผักและผลไม้ควรรับประทานให้ได้ทุกวัน หรือวันเว้นวันก็ยังดี ไม่จำเป็นต้องมากก็ได้ ถ้ามากก็ยิ่งดี ผักควรแช่น้ำด่างทับทิมหรือน้ำใส่เกลือทิ้งไว้ 30 นาทีเพื่อขจัดยาฆ่าแมลง ผักและผลไม้มีสารต้านอนุมูลอิสระมาก ช่วยให้แก่ช้า ก็หมายถึงอายุยืนขึ้นนั่นเอง ทานนมเปรี้ยวก็ช่วยเรื่องระบบลำไส้ได้ดีครับ


2.คนเป็นโรคกษัย มักมีอาการท้องผูกเรื้อรังร่วมด้วย ทำให้เกิดความร้อนสะสมภายในร่างกายมาก มีอาการของโรคท้องผูกร่วมด้วย มักหงุดหงิด ใบหน้าไม่สดใส ระบบระบายความร้อนในร่างกายไม่ดี ทำให้ร่างกายเสียสมดุลย์ จึงมีเหงื่อออกในตอนกลางคืนมากกว่าปกติ


3.พักผ่อนให้เพียงพอ


4..ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ



วิธีการรักษา


1.นวดรักษาหรือทานยาสมุนไพรร่วมด้วย


ยาครอบกษัย มี 2 ขนาน ใช้ได้กับทุกประเภทของกษัย และใช้ยาพรหมภักตร์ ซึ่งมีสรรพคุณในทางระบาย ร่วมด้วยเพื่อให้หายขาดจากโรค


2.ควรปรึกษาแพทย์แผนไทย


อ้างอิงจากตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ พระยาพิษณุประสาทเวช